Skip to main content

 

Libertus Machinus
 


ช่วงหลังๆ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี เริ่มมีการปรับโครงสร้างการจ้างงาน มีการเลย์ออฟคนมหาศาล มีการใช้ AI ทำงานแทนคนอย่างหนัก

คำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือ คนที่โดนเลย์ออฟเค้าไปทำงานอะไรกัน? อะไรคือ งานที่คนซึ่ง "AI แย่งงาน" ไปทำ หรือพวกเค้าไปทำอาชีพอะไรต่อ?

Business Insider เล่าถึงเรื่องราวของสาววัย 37 ปีคนหนึ่งที่เคยเป็น "วิศวกรซอฟต์แวร์" ก่อนจะโดนเลย์ออฟไปในเดือนพฤษภาคม 2025 และปัจจุบัน ในเดือนกรกฎาคม เธอกลายมาเป็น "ช่างเชื่อมเหล็ก" ไปแล้ว และในหลายๆ มิติเรื่องราวนี้น่าสนใจมากเกี่ยวกับทิศทางของตลาดแรงงานปัจจุบัน

สาวคนนี้เล่าว่า เธอไม่ใช่คนที่เรียน "ตรงสาย" แต่จับพลัดจับผลูมาทำงานด้านซอฟต์แวร์ได้เพราะความสนใจส่วนตัว ซึ่งเธอก็มีเพื่อนคอยสนับสนุนด้วย โดยเธอไปเรียนคอร์สออนไลน์จนได้ประกาศนียบัตรหลายต่อหลายใบ และได้ทำงานสายซอฟแวร์เป็น "วิศวกรซอฟแวร์" ซึ่งชาวบ้านทั่วไปก็น่าจะรู้จักอาชีพนี้ในคำกว้างๆ อย่าง "โปรแกรมเมอร์" (ซึ่งทั่วไป คำนี้ไม่ใช่ "ตำแหน่ง" จริงๆ ในองค์กร)

แน่นอน สาวคนนี้ก็ทำงานมาอย่างราบรื่นมาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นเวลาหลายปี จนมาช่วงโควิด อุตสาหกรรมเทคเริ่มทรงไม่ดีละ เริ่มมีเลย์ออฟในบริษัทใหญ่ๆ พวกพนักงานในบริษัทเล็กๆ ก็ร้อนๆ หนาวๆ กัน ตอนแรกเลย์ออฟเพราะต้องการลดค่าใช้จ่ายจากการเสียรายได้ช่วงโควิด ตอนหลังเลย์ออฟกันเพราะบริษัทจำนวนมากเริ่มคิดว่าจะใช้ AI มาทำงานแทนพนักงานกันได้

เธอเริ่มเตรียมใจละว่า สักวันต้องถึงคิวของเธอ และสุดท้ายก็มาถึงจริงๆ โดยเธอทำงานเป็น "วิศวกรซอฟแวร์" เดือนสุดท้ายในพฤษภาคม 2025 ก่อนจะต้องออกจากงาน และตัดสินใจว่าเธอคิดว่าชีวิตเธอพอแล้ว ไม่ทำอาชีพ "วิศวกรซอฟแวร์" อีกแล้ว กล่าวคือจะไม่หางานใหม่สายเดิมแล้ว

ความน่าสนใจคือ ในขณะที่คนภายนอกมองว่า เธอ "โดน AI แย่งงาน" แน่นอน แต่ตัวเธอ ไม่ได้มองสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองแบบนั้น แต่เธอมองว่า จริงๆ งานของเธอ AI ทำแทนไม่ได้ แต่ตัว "ผู้บริหารบริษัท" ต่างหากที่เอา AI มาแทนที่ ทั้งที่จริงๆ มันทำงานที่เธอทำไม่ได้ ซึ่งถ้าอธิบายแบบนี้ ก็อาจพูดได้ว่า AI ไม่ได้ "แย่งงาน" แต่มัน "ทำให้งานหายไป" เลยก็ได้

เธอบอกว่า เธอเข้ามาทำงานเป็น "วิศวกรซอฟแวร์" เพราะงานมันท้าทาย มันคืองานแก้ปัญหาและโจทย์ต่างๆ ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มันได้คิดตลอด งานคือสร้างอัลกอริธึมมาทำสิ่งต่างๆ แต่สิ่งพวกนี้หายเกลี้ยงเมื่อมี AI พวกผู้บริหารคิดว่าถาม AI ก็ได้คำตอบเดียวกัน ก็เลยเลย์ออฟเหล่า "วิศวกรซอฟแวร์" เป็นแถบๆ ทั้งที่คำตอบของ AI มันก็ไม่ได้เหมือนกับที่พวก "วิศวกรซอฟแวร์" ตอบ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เหล่าผู้บริหารจะสนใจ

เธอมองว่า ต่อจากนี้ไปในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี งานจริงๆ มันจะมีแต่งานของฝั่ง "นักพัฒนา AI” เท่านั้น งานอื่นๆ จะหดหายหมด ไม่ใช่เพราะ AI ทำแทนได้ เท่ากับที่เพราะพวกบริหารมองโลกใหม่ของการทำงานว่ามันต้องเป็นแบบนั้น คือจะใช้ AI ทำงานทางปัญญาแทนมนุษย์ในองค์กรให้หมด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

พูดอีกแบบ เธอคิดว่า ตราบใดที่พวกผู้บริหารยังคิดแบบนี้กันอยู่ งานของเธอก็ไม่มีอนาคตอีกแล้ว และเธอเลยเลือกที่จะไปทำงานอื่น

เธอเลือกงานใช้แรงงานแบบงาน "เชื่อมเหล็ก" ซึ่งเป็นความสนใจของเธอมาตั้งแต่สมัยมัธยม เธอก็สนใจเพราะเป็นสิ่งที่เธอเห็นทั้งปู่ของเธอและพ่อของเธอทำมาตั้งแต่เด็ก พอโดนเลย์ออฟปุ๊บ เธอไปเรียนเชื่อมเหล็กเพิ่มเลย และเริ่มรับงานแล้ว

ความน่าสนใจก็คือ สิ่งที่เธอทำมีความคล้ายกับเทรนด์คน Gen Z อเมริกันจำนวนมากที่ไปทำงานพวก "ช่าง"  มากขึ้น ทั้งช่างไฟฟ้า ช่างรถยนต์ อาจด้วยความสนใจส่วนตัว หรือเพราะมองว่างานพวกนี้ยังไงก็ไม่มีทางโดน AI แย่งก็ไม่แน่ใจนัก แต่คนมันฮิตกันจริงๆ

อีกประเด็นที่ไม่ได้อยู่ในบทสัมภาษณ์ของ Business Insider ก็คือในอเมริกา งานอย่างวิศวกรซอฟต์แวร์น่าจะได้เงินเดือนสูงมาก ถ้าเธอเตรียมใจในการโดนเลย์ออฟ เธอน่าจะเก็บเงินมาได้เยอะอยู่ และนั่นยังไม่พูดถึงค่าชดเชยการเลิกจ้าง (severance pay) ที่ในทางปฏิบัติก็น่าจะจ่ายไม่น้อยด้วย สำหรับพนักงานที่ทำงานมานาน

พูดอีกแบบคือ เธอไม่น่าจะโดนเลย์ออฟมาตัวเปล่าๆ แต่น่าจะมีเงินหลักล้านบาทติดมือมาตอนถูกให้ออกนั่นเอง

นี่น่าจะเป็น “ความได้เปรียบ” ของคนฝั่งทำงานในบริษัทเทคที่โดนเลย์ออฟกันโครมๆ เพราะบริษัทพวกนี้โดยทั่วไป ตอนเลย์ออฟก็มักจะจ่ายหนักอยู่ แค่คนโดนเลย์ออฟมักจะไม่พูดถึงเท่านั้นเอง ดังนั้น ในแง่หนึ่ง คนกลุ่มนี้เอาจริงๆ ไม่ได้ “น่าเป็นห่วง” ขนาดนั้น เพราะด้วยรายได้ตอนทำงาน บวกกับรายได้ตอนโดนเลย์ออฟ มันก็อาจได้เป็นเงินก้อนใหญ่ระดับที่หลายคนทำงานจนเกษียณยังไม่ได้เลยก็ได้ด้วยซ้ำ

ในแง่หนึ่งก็อย่าไปห่วงเขาเลยครับ เขามีทางไปอยู่ ฟังดูเรื่องราวโดนเลย์ออฟก็น่าใจหาย แต่อีกด้าน อุุตสาหกรรมที่มาไวไปไวจำนวนมากพวกนี้ ตอนรุ่งๆ ค่าตอบแทนมันโหดมาก แบบจ่ายเยอะจนจินตนาการไม่ได้เลยว่าในงานเดียวกันบริษัทกลุ่มอื่นๆ จะจ่ายไหวได้ยังไง และคนที่เลือกอยู่ในอุตสาหกรรมแบบ "มาไวไปไว" พวกนี้แทนที่จะเป็นอุตสาหกรรมที่ "มั่นคง" ก็ควรมีแผนการทางการเงินในใจอยู่แล้ว

เราคงแทบไม่ต้องย้อนกลับไปดูตอน 10-20 ปีที่แล้วว่า จะมีกระแส "ทำงาน 10 ปีแล้วเกษียณ" ในอเมริกา แบบคนอายุ 20 ทำงานเก็บเงินอย่างหนักจนเกษียณได้ตอนอายุ 30 ปี ซึ่งถ้าไปดู "สายงาน" มันคือสายเทคทั้งนั้น ไม่ว่าจะทำงานอยู่ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือพวกการตลาดและการเงิน

ดังนั้น การมองว่า AI มาแย่งงานสายเทคโนโลยี มันจึงเป็นมุมมองที่แคบในประวัติศาสตร์ เพราะสุดท้ายงานกลุ่มนี้เป็นงานกลุ่มใหม่ ที่จ่ายค่าตอบแทนสูงจนน่าสงสัยว่าจะอยู่ได้ยืนยาวหรือไม่ และคำตอบก็ค่อยๆ เผยตัวมาแล้วในปัจจุบัน

ซึ่งนั่นก็ไม่ต้องพูดถึงว่ามีคนไม่น้อยที่มองแล้วว่า "วันนี้ต้องมาถึง" เลยชิ่งออกมาก่อนจากอุตสาหกรรมพวกนั้นมาสักพักแล้วด้วยซ้ำ

 

อ้างอิง
I lost my software engineer job in May and have taken up welding. I'm happy to leave the tech industry — AI has changed it.
Severance Pay
I was a middle manager for 30 years, and I still think companies are right to eliminate those roles. Here's why.
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน